วันพระ เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนรวมตัวกัน เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาประจำสัปดาห์ วันพระ มีชื่อเรียกว่า ‘วันอุโบสถ’ ก็ได้ หรือจะเรียกว่า ‘วันธรรมสวนะ’ ก็ได้
‘วันอุโบสถ’ แปลว่า วันถือศีลของอุบาสกและอุบาสิกาผู้มีศรัทธา ‘ธรรมสวนะ’ หมายถึง การฟังธรรม ความหมายโดยรวมก็หมายถึงการถือศีลฟังธรรมนั่นเอง
ธรรมเนียมในวันพระถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในปัจจุบันธรรมเนียมนี้มีอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เท่านั้น เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และกัมพูชา ในประเทศไทย มีหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
เมื่อถึงวันพระในประเทศไทย ชาวพุทธนิยมไปฟังธรรมที่วัด ทำบุญตักบาตร ทำสังฆทาน ถือศีลห้า และในรายใดที่เคร่งก็จะถือศีลแปด นุ่งขาวห่มขาวจำศีลที่วัด(หรือที่บ้าน) ถ้าหากไม่สะดวกไปวัดฟังธรรม ก็มักจะไหว้พระในบ้านแทน ถ้าหากบ้านมีห้องพระ หรือมุมโต๊ะหมู่บูชา หรือหิ้งพระในห้องพัก ก็สามารถสวดมนต์ไหว้พระในวันพระได้เช่นกัน โดยให้ถือความสะดวกเป็นหลัก
กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกัน ก็คือ การสวดมนต์ โดยที่วัดแต่ละแห่งก็มีการกำหนดบทสวดมนต์วันพระไว้ต่างๆ กันไปในแต่ละสำนัก บทความนี้จะเสนอบทสวดมนต์ที่นิยมสวดกันในวันพระ ซึ่งหากผู้อ่านมีเวลาไม่มาก ก็สามารถที่จะเลือกบทสวดมนต์วันพระ สั้นๆ ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกในเวลานั้นๆ
บทสวดมนต์วันพระ ในบทความนี้เรียงบทสวดมนต์ดังนี้
บทบูชาพระรัตนตรัย
กราบพระรัตนตรัย
นมัสการพระพุทธเจ้า (นโม)
ขอขมาพระรัตนตรัย
ไตรสรณคมน์ (พุทธัง ธัมมัง สังฆัง)
สมาทานศีลห้า
บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)
บทชัยปริตร (มหากาฯ)
ชินบัญชร
บทสัพพมงคลคาถา
โพชฌังคปริตร
มงคลสูตร
รตนสูตร
กรณียเมตตสูตร
บทอธิษฐานขออโหสิกรรม
แผ่เมตตาให้ตัวเอง
บทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
บทอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล (บทกรวดนํ้า)
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้น นักบวชนอกศาสนาได้พากันประชุมแสดงธรรมทุกวัน ๘ คํ่า ๑๔ คํ่า ๑๕ คํ่า ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ชาวเมืองราชคฤห์ทราบข่าวก็พากันไปฟังธรรมของนักบวชเหล่านั้น แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลําดับ
ต่อมา พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ทรงทราบข่าวนี้ จึงได้นําขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ พร้อมทั้งขอพระพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์ประชุมแสดงธรรมในวันดังกล่าวดังเช่นนักบวชนอกศาสนาบ้าง
พระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาต ดังพุทธพจน์ว่า
อะนุชานามิ ภิกขะเว จาตุททะเส ปัณณะระเส อัฏฐะมิยา จะ ปักขัสสะ สันนิปะติตวา ธัมมัง ภาสิตุง
แปลว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันแสดงธรรม ในวัน ๑๔ คํ่า ๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า ของปักษ์
ในครั้งพุทธกาล ไม่มีการบันทึกคําสอนเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถ่ายทอดด้วยคําพูด การฟัง การท่องจําเป็นหลัก (มุขปาฐะ) การฟังธรรมจึงเป็นสิ่งสําคัญที่สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย การฟังธรรมมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ในครั้งนั้น เรียกวันธรรมสวนะในวันขึ้น-แรม ๘ คํ่า ว่า วันศีลน้อย และเรียกวันขึ้น-แรม ๑๕ คํ่า ว่า วันศีลใหญ่
การฟังธรรมในโอกาสที่สมควร เป็นมงคลอย่างสูงสุดประการหนึ่ง เมื่อได้ฟังบ่อยเพียงใด ย่อมได้รับประโยชน์มากเพียงนั้น
ประโยชน์ที่เกิดจากการฟังธรรมในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตันตปิฎก แสดงว่ามี ๕ ประการ คือ
๑. ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง
๒. สิ่งที่เคยฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจชัด
๓. บรรเทาความสงสัยได้
๔. ทําความเห็นให้ถูก
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
แนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ในวันพระ
– ให้ทาน ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในภาคเช้า หรือเพล บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ และบําเพ็ญสาธารณประโยชน์
– รักษาศีล สํารวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ (ศีลอุโบส)
– เจริญภาวนา ฝึกสมาธิ ทําจิตใจให้สงบ รวมทั้งพัฒนาปัญญา ด้วยการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิตและโลก